top of page

ประกันภัยสุขภาพ

61197705_2204275256335457_41317580104710

การประกันภัยสุขภาพคืออะไร

การประกันสุขภาพ คือการประกันภัยที่บริษัทประกันภัยตกลงที่จะชดเชยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัยไม่ว่าค่ารักษาพยาบาลนั้นจะเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยจากโรคภัยหรือการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้แก่ผู้เอาประกันภัย

การประกันสุขภาพมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีขอบเขตความคุ้มครองแค่ไหน

การประกันสุขภาพแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพหมู่และการ 
ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพรายบุคคล ทั้ง 2 ประเภทให้ความคุ้มครองที่เหมือนกัน โดยแบ่งความคุ้มครองหลักออกได้เป็น 7 หมวด 

1. ให้ความคุ้มครองเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการป่วยไข้ โดยจะชดเชยค่าใช้จ่ายอันเกิดจาก               

       

1. ค่าห้องและค่าอาหาร

2. ค่าบริการทั่วไป

3. ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการรักษาพยาบาลฉุกเฉินหลังการเกิดอุบัติเหตุ

   

    2. ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการผ่าตัด ค่าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการผ่าตัด 
    3. ค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการให้แพทย์มาดูแล 
    4. ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาที่คลีนิคหรือแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล 
    5. ค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตร 
    6. ค่าใช้จ่ายในการรักษาฟัน 
    7. การชดเชยค่าใช้จ่าย

    อันเกิดขึ้นจากการบริการโดยพยาบาลพิเศษขณะอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้านภายหลังจากการรักษาในโรงพยาบาลทั้งนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์

อัตราเบี้ยประกันภัยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไร

    

อัตราเบี้ยประกันภัยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

 

    1.อายุ อายุของผู้เอาประกันภัยที่แตกต่างกัน สามารถแสดงถึงโอกาสที่ร่างกายจะบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วย รวมถึงการได้รับผลกระทบแทรกซ้อนแตกต่างกันไปด้วยเพราะบุคคลทั่วไปเมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะมีโอกาสเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพได้มากขึ้น และถ้าได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยแล้ว ประสิทธิภาพในการที่ร่างกายจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก็จะลดลง มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงและต้องใช้เวลาในการพักรักษาตัวนานกว่าบุคคลที่มีอายุน้อยกว่า

    2.เพศ ปัจจุบันความเสี่ยงภัยของเพศหญิงจะไม่แตกต่างจากเพศมากนักแต่อย่างไรก็ตามความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายยังมีความแตกต่างกันอยู่โดยปกติเพศหญิงจะใช้เวลาในการฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บทางร่ายกายนานกว่าเพศชาย ผู้รับประกันภัยจึงอาจจะรับประกันภัยโดยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยสูงกว่าเพศชาย

    3.สุขภาพ ได้แก่ ประวัติเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาพยาบาลรวมทั้งสภาพร่ายกายของผู้ขอเอาประกันภัยบุคคลที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ไม่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยรุนแรงโอกาสที่จะได้รับการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยร้ายแรงหรือได้รับผลกระทบจนทุพพลภาพเป็นเวลานานในอนาคตก็ย่อมเป็นไปได้น้อยกว่าบุคคลที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอผิดปกติหรือมีประวัติการเจ็บป่วยร้ายแรงมาก่อน อีกทั้งอาการผิดปกติของร่างกายหรือจิตใจบางอย่างจะก่อให้เกิดแนวโน้ม หรือความเป็นไปได้สูงในการเกิดอุบัติเหตุเช่น โรคลมบ้าหมู ประสาทหลอน หรืออาการตื่นตกใจง่าย เป็นต้น

    4.อาชีพ อาชีพแสดงถึงกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงภัยหรือแนวโน้มที่จะได้รับบาทเจ็บ หรือเจ็บป่วยที่ต่างกันออกไป

    5.การดำเนินชีวิต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพ หรืออุบัติเหตุของบุคคลที่แตกต่างกันไป อาทิเช่น การดื่มแอลกอฮอล์การเล่นกีฬาที่เสี่ยงอันตราย เป็นต้น

    6.สำหรับการประกันภัยหมู่จะต้องมีการพิจารณาถึงจำนวนบุคคลที่จะเอาประกันภัยด้วยเพราะถ้าจำนวนบุคคลมาก การกระจายความเสี่ยงจะมีมากกว่าซึ่งจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยต่ำลงได้

 

การพิจารณารับประกันภัยของบริษัท

 

    การพิจารณารับประกันภัยของบริษัท ย่อมขึ้นอยู่กับสุขภาพ /อายุของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ และในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยนั้นบริษัทจะไม่คุ้มครอง “โรคที่เป็นมาก่อนการทำประกันภัย” อาทิเช่นหากผู้เอาประกันภัยเป็นโรคเบาหวานมาก่อนการทำประกันภัยบริษัทจะไม่คุ้มครองหากผู้เอาประกันภัยนั้นต้องรักษาตัวด้วยโรคเบาหวานแต่จะคุ้มครองหากผู้เอาประกันภัยนั้นเกิดเป็นโรคหัวใจขึ้นมาภายหลังดังนั้น หากผู้ขอเอาประกันภัยที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัวหลายอย่างโอกาสที่จะเจ็บป่วยในอนาคตย่อมมากกว่าผู้มีสุขภาพแข็งแรงบริษัทอาจจะพิจารณารับประกันภัยผู้ขอเอาประกันภัยรายนั้นด้วยเบี้ยประกันภัยที่สูงกว่าคนปกติ หรืออาจจะไม่รับประกันภัยเลยก็ได้ในกรณีที่ผู้ขอเอาประกันภัยเจ็บป่วยด้วยโรคที่รุนแรง เช่น เอดส์ มะเร็งบริษัทมักจะไม่รับประกันภัย

 

หลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอย่างไร

 

    การจ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการประกันสุขภาพยึดหลักเกณฑ์เดียวกับการประกันภัยประเภทอื่น ๆ คือ “จ่ายตาม 
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่สูงสุดไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้”

 

ข้อยกเว้นความคุ้มครอง

 

    การประกันสุขภาพโดยทั่วไปจะไม่คุ้มครองการเข้าพักรักษาตัวซึ่งมิได้เกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรือป่วยไข้ เช่นการทำหมัน การทำศัลยกรรม การลดความอ้วน การพักผ่อน รวมทั้งการรักษาโรคประสาท กามโรคการติด และการตรวจสายตาเช่นกัน

การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล

ประกันภัยอุบัติเหตุคืออะไร

        การประกันภัยอุบัติเหตุเป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุได้รับความบาดเจ็บทางร่างกายและหากผลของการบาดเจ็บนั้นส่งผลให้ผู้เอาประกันภัยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลหรือรุนแรงถึงขั้นทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ หรือเสียชีวิตบริษัทประกันภัยจะเข้ามารับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัยหรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหากผู้เอาประกันภัยต้องสูญเสียอวัยวะทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต

กรมธรรม์มีกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร

     การประกันภัยอุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 3 กรมธรรม์ ได้แก่กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มและกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา

     กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้นใช้สำหรับการประกันภัยเฉพาะบุคคลคนเดียวเท่านั้นส่วนกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุกลุ่มใช้สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีการรวมตัวกันไว้ก่อนแล้ว เช่น กลุ่มพนักงานของบริษัท DOI จำกัดกลุ่มข้าราชการของกรมการประกันภัย เป็นต้น มิใช่กลุ่มที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อทำการประกันภัยเท่านั้นและกรมธรรม์ประกันภัยแบบนักเรียน นิสิตนักศึกษานั้นจะเป็นการทำประกันภัยกลุ่มโดยที่สถาบันการศึกษาเป็นผู้จัดทำให้แก่นักเรียนนักศึกษาในสังกัด

การประกันอุบัติเหตุมีแบบความคุ้มครองให้เลือกอย่างไร

     ในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล และอุบัติเหตุกลุ่มนั้นจะมีแบบให้เลือก 2 แบบ คือ แบบ อบ. 1 และ แบบ อบ. 2 ซึ่งแบบ อบ. 1 จะให้ความคุ้มครองน้อยกว่าแบบ อบ. 2 กล่าวคือ

     แบบ อบ. 1 จะมีความคุ้มครองให้เลือกซื้อ 4 ความคุ้มครอง ได้แก่

        1.การเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/สายตา การทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง

        2.การทุพพลภาพชั่วคราวสิ้นเชิง

        3.การทุพพลภาพชั่วคราวบางส่วน และ

        4.การรักษาพยาบาล

     ส่วนแบบ อบ. 2 จะให้ความคุ้มครองเพิ่มจาก อบ. 1 คือ การสูญเสียนิ้วการสูญเสียการรับฟังเสียง/การพูดออกเสียง และการทุพพลภาพถาวรบางส่วน

สำหรับในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษานั้น จะมีเฉพาะแบบอบ. 1 เท่านั้น

     การประกันอุบัติเหตุ โดยปกติแล้วจะให้ความคุ้มครองรวมถึงการถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายร่างกายด้วย ไม่ว่าการถูกฆ่าหรือถูกทำร้ายร่างกายจะเป็นโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม อย่างไรก็ตามหากผู้เอาประกันภัยเห็นว่าตนไม่มีความเสี่ยงภัยในการถูกฆ่า หรือถูกทำร้ายร่างกายก็สามารถที่จะไม่เอาประกันภัยในส่วนนี้ได้โดยผู้เอา 
ประกันภัยก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยไป

ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์

     การประกันภัยอุบัติเหตุจะมุ่งให้ความคุ้มครองที่เป็นความเสี่ยงภัยพื้นฐานของคนโดยทั่วไปเท่านั้น 
ดังนั้นจึงมีการกำหนดข้อยกเว้นในกรมธรรม์ที่จะไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่างอาทิเช่น

    1.การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุราหรือยาเสพติด

    2.การฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายร่างกายตนเอง

    3.การแท้งลูก

    4.สงคราม การปฏิบัติ การกบฎ

    5.การจลาจล การนัดหยุดงาน การที่ประชาชนก่อความวุ่นวายลุกฮือต่อต้านรัฐบาล

    6.การแผ่รังสีหรือกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ อาวุธนิวเคลียร์

    7.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย เช่น การดำน้ำ การเล่นบันจี้จั๊มพ์ เล่นสกีการแข่งรถ แข่งเรือ แข่งสเก็ต เป็นต้น

    8.ขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์

    9.ขณะที่โดยสารอยู่ในเครื่องบินที่มิใช่สายการบินพาณิชย์ เช่น เฮลิคอปเตอร์

    10.ขณะที่เข้าร่วมการทะเลาะวิวาท ก่ออาชญากรรม หรือหลบหนีการจับกุม

    11.ขณะที่เข้าปราบปรามหรือปฏิบัติการทางสงครามหากผู้เอาประกันภัยเป็นทหาร ตำรวจหรืออาสาสมัคร

ข้อยกเว้นการจ่ายผลประโยชน์เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่

     หากผู้เอาประกันภัยต้องการให้ได้รับความคุ้มครองในเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในข้อยกเว้นก็สามารถที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเพิ่มเติมเพื่อขอขยายความ

คุ้มครองได้แต่ทั้งนี้การขอขยายความคุ้มครองนั้นสามารถทำได้เพียง 5 กรณีเท่านั้น ได้แก่

    1.การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์

    2.การจลาจล การนัดหยุดงาน

    3.การสงคราม

    4.การโดยสารอากาศยานที่มิได้ประกอบการโดยสายการบินพาณิชย์

    5.การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตราย

 

ค่าเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง

 

     เบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

        1.กลุ่มคน

     การทำประกันภัยแบบกลุ่มจะถูกกว่าการทำประกันภัยรายบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกลุ่มคนมีจำนวนมากเบี้ยประกันภัยก็จะยิ่งต่ำลง เช่น จำนวนคน 20 – 49 คนจะได้ลดเบี้ยประกันภัย 10 % จำนวนคน 
200 – 999 คน ได้ลดเบี้ยประกันภัย 25 % เป็นต้น

     สำหรับการประกันภัยกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษานั้นเบี้ยประกันภัยจะต่ำกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไปแต่ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยจะแตกต่างกันตามระดับการศึกษาด้วย โดยการศึกษาระดับอนุบาลและประถมเบี้ยประกันภัยจะต่ำสุด สูงขึ้นมาคือระดับมัธยม ต่อมาคือระดับอุดมศึกษาและสายอาชีพจะมีเบี้ยประกันภัยสูงสุดสำหรับในการประกันภัยกลุ่มนักเรียน

        2.อาชีพ

     การแบ่งชั้นอาชีพในการรับประกันภัยจะแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่

        อาชีพชั้น 1 ส่วนใหญ่ทำงานประจำในสำนักงาน 
        อาชีพชั้น 2 ปฏิบัติงานที่ใช้วิชาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้งตลอดเวลา 
        อาชีพชั้น 3 ปฏิบัติงานด้านช่าง กระบวนการผลิต ที่มีการใช้เครื่องจักรกลหนัก ผู้ใช้แรงงานการเดินทาง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ 
    อาชีพชั้น 4 อาชีพพิเศษที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าชั้นอื่น ๆ เป็นพิเศษ เช่นนักแสดงผาดโผน    

    ในการแบ่งชั้นอาชีพดังที่กล่าวมาแล้ว อาชีพชั้น 1 จะเป็นชั้นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำที่สุดเบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพชั้นอื่น ๆ ในขณะที่อาชีพชั้น 4 เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูงที่สุด เบี้ยประกันภัยก็จะสูงกว่าอาชีพอื่น ๆดังนั้น อาชีพที่มีความเสี่ยงภัยต่ำ เช่น คนทำงานในสำนักงานเบี้ยประกันภัยก็จะต่ำกว่าอาชีพที่มีความเสี่ยงภัยสูง เช่น วิศวกร คนขับรถคนส่งเอกสาร

        3.อายุ

         คนที่อายุเกินกว่า 60 ปี เบี้ยประกันภัยจะสูงกว่าคนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี

        4.ความคุ้มครองที่เลือกซื้อ

         ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเฉพาะบางอย่างก็ได้ เช่นต้องการเพียงการเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ และทุพพลภาพโดยไม่เอาความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลก็ได้ซึ่งแน่นอนว่าเบี้ยประกันภัยก็จะแปรตามความคุ้มครองที่ต้องการ

        5.ความคุ้มครองเพิ่มเติม

         หากผู้เอาประกันภัยต้องการขยายความคุ้มครองไปถึงภัยที่มีการยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยได้แก่การขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ การเล่นหรือแข่งกีฬาอันตรายการโดยสารเฮลิคอปเตอร์ การจลาจล/นัดหยุดงาน สงครามด้วยแล้วเบี้ยประกันภัยก็จะเพิ่มสูงขึ้น

        6.จำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนด

         เบี้ยประกันภัยจะผันแปรตามจำนวนเงินเอาประกันภัยด้วย ดังนั้นในกรณีการซื้อผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาล ต้องกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย ให้เหมาะสมหากซื้อไว้มากเกินความจำเป็นก็จะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยโดยไม่จำเป็น

1.การกำหนดจำนวนความรับผิดส่วนแรก

     หากผู้เอาประกันภัยยินยอมรับความเสียหายส่วนแรกเองบางส่วนในกรณีของค่ารักษาพยาบาลเบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง หากผู้เอาประกันภัยยินยอมให้บริษัทงดจ่ายผลประโยชน์กรณีการทุพพลภาพชั่วคราวในช่วงสัปดาห์แรก ๆเบี้ยประกันภัยก็จะต่ำลง

กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลของแต่ละบริษัทเป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่มีหลักการในการพิจารณาเลือกซื้ออย่างไร

     กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเป็นมาตรฐานเหมือนกันทุกบริษัท แต่ทั้งนี้อัตราเบี้ยประกันภัยที่บริษัทใช้มีความแตกต่างกันดังนั้นผู้ที่ต้องการซื้อประกันภัย ต้องพิจารณาในด้านต่าง ๆ ดังนี้

    1.พิจารณาแบบความคุ้มครองระหว่าง แบบ อบ. 1 และ อบ. 2 โดย แบบ อบ. 2 จะมีความคุ้มครองที่กว้างกว่า และน่าจะมีความเหมาะสมกับผู้ทำงานด้านช่างหรืองานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับการใช้นิ้ว

    2.พิจารณาความต้องการของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนเงินที่จะเอาประกันภัยต้องเหมาะสมกับรายได้ (ประมาณ 10 เท่าของรายได้ต่อปี)

    3.พิจารณาเบี้ยประกันภัยระหว่างบริษัทประกันภัยต่าง ๆ และเปรียบเทียบกันหลาย ๆบริษัท

    4.พิจารณาฐานะของบริษัทประกันภัย / และวิธีการดำเนินงานของบริษัท

หากเกิดภัยขึ้นตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ผู้เอาประกันภัยควรปฏิบัติเช่นไรจึงจะมีสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

     เมื่อผู้เอาประกันภัยประสบอุบัติเหตุต้องแจ้งให้บริษัทประกันภัยทราบโดยทันทีและนำหลักฐานอาทิเช่น ใบเสร็จแสดงรายการค่ารักษาพยาบาล รายงานของแพทย์ ใบแจ้งความใบมรณะบัตร เป็นต้นส่งมอบให้บริษัทประกันภัย

การประกันภัยโจรกรรม

การประกันภัยโจรกรรม (Burglary Insurance)

    ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรมดังนี้

 

ความคุ้มครอง

ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความคุ้มครอง 2 ส่วน คือ

    1.1 ความสูญเสียหรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้ 3 แบบ คือ

    1) แบบ จร. 1 คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ โดยบุคคลใด ๆที่มิได้ระบุในข้อยกเว้นซึ่งได้เข้าไปหรือออกจากสถานที่ที่เอาประกันภัยโดยใช้กำลังอย่างรุนแรงและทำให้เกิดร่องรอยความเสียหาย ที่เห็นได้อย่างชัดเจนต่อสถานที่ที่เอาประกันภัยจากการใช้เครื่องมือ วัตถุระเบิด ไฟฟ้า เคมีรวมทั้งความสูญเสียหรือความเสียหายเนื่องมาจากความพยายามกระทำการดังกล่าว

    2) แบบ จร. 2 คุ้มครองการลักทรัพย์ที่ปรากฏร่องรอยงัดแงะ การชิงทรัพย์หรือการปล้นทรัพย์

ความคุ้มครองแบบ จร. 2 นี้จะกว้างกว่าแบบ จร. 1 โดยรวมถึงการชิงทรัพย์และการปล้นทรัพย์ด้วย

การชิงทรัพย์ หมายความว่า การลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลงประทุษร้อยเพื่อ

        ก) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือ

        ข) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นหรือ

        ค) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้หรือ

        ง) ปกปิดการกระทำความผิดนั้นหรือ

        จ) ให้พ้นจากการจับกุม

การปล้นทรัพย์ หมายความว่าการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต

    3) แบบ จร. 3 คุ้มครองการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์

ความคุ้มครองแบบ จร. 3 นี้ จะกว้างที่สุดโดยรวมถึงการลักทรัพย์ (ลักขโมย)

การลักทรัพย์ หมายความว่าการเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต

1.2 ความเสียหายต่อตัวอาคารซึ่งเก็บทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของตัวอาคารอ้นเกิดจากการกระทำซึ่งได้รับความคุ้มครองตามความคุ้มครองข้อ 1.1 ข้างต้น

 

ข้อยกเว้น 

การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง

    2.1 ความสูญเสียหรือความเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองความสูญเสีย หรือความเสียหายจากภัยสงคราม (ไม่ว่าจะมีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การนัดหยุดงาน การจลาจลการที่ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล การกบฏ การปฏิวัติการยึดทรัพย์ โดยคำสั่งของรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

    2.2 ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากอัคคีภัย หรือระเบิดไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม เว้นแต่ความสูญเสียหรือความเสียหายจากการระเบิดอันเป็นผลมาจากการเข้าไปในสถานที่เอาประกันภัย โดยการใช้วัตถุระเบิดและมีเจตนาเพื่อที่จะทำการลักทรัพย์ หรือ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์

    2.3 ความเสียหายของกระจกหรือสิ่งประดับบนกระจกหรือข้อความบนกระจก 
ความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากกระทำหรือการมีส่วนร่วมโดยบุคคลใด ๆ ซึ่งอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายในสถานที่ตามที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ หรือเกิดจากการกระทำโดยผู้เอาประกันภัยหรือหุ้นส่วนของผู้เอาประกันภัยหรือกรรมการ หรือพนักงาน หรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกระทำด้วยตนเองโดยลำพังหรือสมรู้ร่วมคิดกับบุคคลอื่น

    2.4 ความสูญเสียหรือความเสียหายของ เงิน ทอง อัญมณี โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเหรียญ ต้นฉบับเอกสาร โฉนด แบบแปลน แผนผัง ภาพเขียน รูปออกแบบ ลวดลายแบบหรือแบบพิมพ์ หลักประกันหนี้สิน หลักทรัพย์ เอกสารสำคัญ ต่าง ๆ ไปรษณียากรอากรแสตมป์ เงินตรา ธนบัตร บัตรเครดิต บัตรธนาคาร เช็ค สมุดบัญชีหรือสมุดหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจใด ๆ เว้นแต่ระบุให้รวมอยู่ในการประกันภัยนี้โดยชัดแจ้ง

    2.5 ความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่สถานที่ตามที่ระบุไว้ในตารางแห่งกรมธรรม์ถูกทอดทิ้งโดยไม่มีผู้อยู่อาศัย หรือไม่มีผู้ดูแลรักษาเป็นเวลาเกินกว่า 7 วันติดต่อกัน

    2.6 ความสูญเสียหรือความเสียหายซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า

bottom of page